Welcome to Thai Travel Clinic

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อเกิดการบาดเจ็บขณะเดินทาง

ในช่วงเทศกาล วันหยุดยาว หลายๆ คนวางแผนไปเที่ยวต่างจังหวัด เที่ยวป่า เที่ยวภูเขา น้ำตก แม่น้ำ ฯลฯ ซึ่งอาจมีกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดการบาดเจ็บได้ ดังนั้นการเตรียมตัวก่อนเดินทางและการเรียนรู้วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นแก่ผู้บาดเจ็บอย่างถูกวิธีถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญสำหรับนักท่องเที่ยว เพื่อให้อาการบาดเจ็บบรรเทาลง และสามารถส่งต่อผู้ป่วยแก่แพทย์ผู้ชำนาญการได้ทันท่วงที ส่งผลให้การเดินทางเป็นไปอย่างราบรื่นและปลอดภัยให้สมกับความตั้งใจแต่แรก สำหรับอาการบาดเจ็บที่พบบ่อยในขณะเดินทางมีไม่กี่สาเหตุด้วยกัน อาทิเช่น บาดเจ็บจากเป็นแผลถลอก ไฟไหม้ เลือดกำเดาไหล กระดูกหัก เคล็ด ขัดยอก ฟกช้ำ ห้อเลือด เลือดไหล แมลงสัตว์กัดต่อย ลมพิษ ฯลฯ โดยอาการเหล่านี้มีตั้งแต่อาการบาดเจ็บเล็กน้อย ถึงอาการบาดเจ็บขั้นรุนแรง ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยด่วน ทั้งนี้ ตัวผู้ป่วยเองและผู้พบเห็นเหตุการณ์ควรตั้งสติให้ดี และควรขอความช่วยเหลือจากสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุดเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการพยาบาลโดยเร็วที่สุด.

First Aid Kit

อุปกรณ์ปฐมพยาบาล (First Aid Kit)

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นในบาดแผลแบบต่างๆ

1 การปฐมพยาบาลบาดแผลถลอก (Abrasion wounds)

บาดแผลถลอกหมายถึงการ เป็นบาดแผลที่เกิดจากการถูกขีดข่วน ถูกถูหรือถูกครูด บาดแผลชนิดนี้จะตื้นเพียงแค่ผิวหนังชั้นนอกเท่านั้น และมีเลือดออกเล็กน้อย อันตรายของบาดแผลอยู่ที่การติดเชื้อ บาดแผลถลอกที่พบได้เสมอ คือ การหกล้ม เข่าถลอก ดังนั้นเมื่อเกิดบาดแผลขึ้นต้องรีบปฐมพยาบาล เพื่อลดอาการเจ็บปวดและป้องกันไม่ให้แผลติดเชื้อ

อุปกรณ์

1. ชุดทำแผล ได้แก่ ปากคีบ ถ้วยใส่สารละลาย สำลี ผ้าก๊อส และพาสเตอร์ปิดแผล

2. สารละลาย ได้แก่ น้ำยาฆ่าเชื้อ และ น้ำเกลือล้างแผล

3. แอลกอฮอล์ 70 %

4. เบตาดีน หรือ โปรวิดี ไอโอดีน

* ท่านสามารถซื้อชุดทำแผลดังกล่าว ได้ตามร้านขายอุปกรณ์ทางการแพทย์ทั่วไป

วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น

1. ให้ชำระล้างบาดแผลด้วยน้ำสบู่และน้ำสะอาด ถ้ามีเศษหิน ขี้ผง ทราย อยู่ในบาดแผลให้ใช้น้ำสะอาดล้างออกให้หมด

2. ใช้ปากคีบสำลีชุบแอลกอฮอล์ 70%   พอหมาดๆ เช็ดรอบๆ บาดแผลเพื่อฆ่าเชื้อโรครอบๆ ( ไม่ควรเช็ดลงบาดแผลโดยตรง เพราะจะทำให้ เจ็บแสบมาก เนื่องจากยังเป็นแผลสด)

3. ใช้สำลีชุบเบตาดีนหรือ โปรวิดี ไอโอดีน ใส่แผลสด ทาลงบาดแผล แล้วปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ต้องปิดบาดแผล ยกเว้นบาดแผลที่เท้าซึ่งควรปิด ด้วยผ้าก๊อซสะอาด เพื่อป้องกันฝุ่นละออง

4. ระวังอย่าให้บาดแผลถูกน้ำ

5. ไม่ควรแกะหรือเกาบาดแผลที่แห้งตกสะเก็ดแล้ว เพราะทำให้เลือดไหลอีก สะเก็ดแผลเหล่านั้นจะแห้งและหลุดออกเอง

2 การปฐมพยาบาลบาดแผล ฟกช้ำ (Contusion)

บาดแผลฟกช้ำหรือบาดแผลเปิด เป็นบาดแผลที่ไม่มีร่องรอยของผิวหนัง แต่มีการฉีกขาดของเนื้อเยื่อและหลอดเลือดบริเวณที่อยู่ใต้ผิวหนังส่วนนั้น มักเกิดจากแรงกระแทกของแข็งที่ไม่มีคม เช่น ถูกชน หกล้ม เป็นต้น ทำให้เห็นเป็นรอยฟกช้ำ  บวมแดงหรือเขียว

อุปกรณ์

1. น้ำเย็น

2. ผ้าขนหนูผืนเล็ก

3. ผ้าพันแผลชนิดเป็นม้วน

วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น

1. ให้ประคบบริเวณนั้นด้วยความเย็น เพราะความเย็นจะช่วยให้เลือดใต้ผิวหนังบริเวณนั้นออกน้อยลง โดยใช้ผ้าชุบน้ำเย็นประคบหรือใช้ผ้า ห่อน้ำแข็งประคบเบาๆ ก็ได้

2. ถ้าบาดแผลฟกช้ำเกิดขึ้นกับอวัยวะที่ต้องมีการเคลื่อนไหวอยู่เสมอ เช่น ข้อมือ ข้อเท้า ข้อศอก เป็นต้น ให้ใช้ผ้าพันแผลชนิดเป็นม้วนที่ยืดหยุ่นได้พันรอบข้อเหล่านั้นให้แน่นพอสมควร เพื่อช่วยให้อวัยวะที่มีบาดแผลอยู่นิ่งๆ และพยายามอย่างเคลื่อนไหวผ่านบริเวณนั้น รอยช้ำค่อยๆ จางหายไปเอง

3 การปฐมพยาบาลบาดแผลถูกของมีคมบาด (Incision wounds)

บาดแผลแยกหรือบาดแผลเปิด เป็นบาดแผลที่เกิดจากการฉีกขาดของผิวหนังหรือเนื้อเยื่อจากการถูกของมีคมบาด แทง กรีด หรือถูกวัตถุกระแทกแรงจนเกิดบาดแผล มองเห็นมีเลือดไหลออกมา

อุปกรณ์ เช่นเดียวกับการปฐมพยาบาลแผลถลอก

วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น

1.  ใช้สำลีเช็ดเลือด และกดห้ามเลือด

2.  ใช้แอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาดรอบๆ แผล

3.  ใช้สำลีชุบ เบตาดีน หรือ โปรวิดี ไอโอดีน ใส่แผลสดทารอบๆ แผล

4.  ใช้ผ้าพันแผล หรือพลาสเตอร์ปิดแผล

5. รีบน้ำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลให้กรณีบาดแผลรุนแรง

4 การปฐมพยาบาลบาดแผล กระดูกหัก ( Fracture)

กระดูกหัก คือ การที่กระดูกแยกออกจากกัน ก่อให้เกิดความเจ็บปวด บวม เคลื่อนไหวไม่ได้หรือเคลื่อนไหวผิดปกติ เนื่องจากอุบัติเหตุ เช่น ถูกรถชน หกล้ม ตกจากที่สูง หรือกระดูกเป็นโรคไม่แข็งแรงอยู่แล้ว กระดูกเปราะเมื่อถูกแรงกระทบกระเทือนเพียงเล็กน้อยก็อาจหักได้

อุปกรณ์

1. แผ่นไม้หรือหนังสือหนาๆ

2. ผ้าพันยึด

วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น

1. วางอวัยวะส่วนนั้นบนแผ่นไม้หรือหนังสือหนา ๆ

2. ใช้ผ้าพันยึดไม้ให้เคลื่อนไหว

3. ถ้าเป็นปลายแขนหรือมือใช้ผ้าคล้องคอ

5 การปฐมพยาบาลเมื่อถูกแมลงกัดต่อย ( Insect bite )

แมลงหลายชนิดมีเหล็กใน เช่น ผึ้ง ต่อ แตน เป็นต้น เมื่อต่อยแล้วมักจะทิ้งเหล็กในไว้ ภายในเหล็กในจะมีพิษของแมลงพวกนี้มักมีฤทธิ์ที่เป็นกรด บริเวณที่ถูกต่อยจะบวมแดง คันและปวด อาการปวดจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับบริเวณที่ต่อยและสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล

อุปกรณ์

1. อุปกรณ์ที่มีรูสามารถกดลงเพื่อเอาเหล็กในออกเช่น ลูกกุญแจ

2. อุปกรณ์สะอาดสำหรับคีบเอาเหล็กในออก

3. สำลีชุบแอมโมเนีย

วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น

1.  ใช้ลูกกุญแจที่มีรูกดตรงจุดที่ถูกต่อย แล้วใช้ที่หนีบคีบเอาเหล็กในออก

2.  กดหรือบีบบาดแผลไล่น้ำพิษออก

3.  ใช้สำลีชุมแอมโมเนียทาบริเวณแผล

4. ใช้น้ำแข็งประคบบริเวณแผล เพื่อระงับอาการปวดและช่วยลดการซึมซาบของพิษ

5. สังเกตดูอาการ ถ้าไม่ดีขึ้นรีบพาไปพบแพทย์

6 การ ปฐมพยาบาลเมื่อถูกไฟไหม้ หรือน้ำร้อนลวก (Burning)

อุปกรณ์ เช่นเดียวกับการทำแผล

วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น

1.  ใช้สารละลายล้างแผล

2.  ทายาแก้ไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวกให้ทั่วบาดแผล

3.  ปิดบาดแผลด้วยผ้ากอซเพื่อป้องกันฝุ่นละออง

4.  ติดพลาสเตอร์ทับให้เรียบร้อย

5. ในกรณีที่แผลรุนแรงต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน

* ไม่ควรใช้ยาสีฟันทาแผล เพราะแผลอาจอักเสบมากขึ้นและอาจหายช้า

7 การปฐมพยาบาล เมื่อเลือดกำเดาไหล (Epistaxis )

อุปกรณ์ ผ้าชุบน้ำเย็น

วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น

1.  นั่งนิ่งๆ ก้มหน้าลงเล็กน้อย บีบจมูกนาน 10 นาที

2.  ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น หรือน้ำแข็งวางบนหน้าผาก สันจมูก หรือใต้ขากรรไกร

3.  ถ้าเลือดกำเดายังไม่หยุดไหล ให้รีบไปพบแพทย์

“จะเห็นได้ว่าการปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้แก่ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บขณะเดินทาง

ไม่ใช่เรื่องยากหากท่านใส่ใจ ให้ความสำคัญและพร้อมที่จะเรียนรู้การปฏิบัติที่ถูกต้องตามวิธีการ

Leave a Reply Cancel reply

You can use these HTML tags

<a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <s> <strike> <strong>

Build a Mobile Website
View Site in Mobile | Classic
Share by: