Welcome to Thai Travel Clinic

เรื่องควรรู้ ควรเตรียมตัวก่อนไปเที่ยวแอฟริกา

ทุกวันที่ คลินิกเวชศาสตร์ท่องเที่ยวและการเดินทาง โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน จะมีนักท่องเที่ยวมาขอรับคำปรึกษาก่อนไปเที่ยวแอฟริกา ซึ่งดูเหมือนจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยที่สนใจใปทวีปนี้จะมากขึ้นทุกๆปี เพราะทวีปนี้เป็นทวีปที่น่าค้นหา มีอะไรหลายอย่างที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้ไปเที่ยวซาฟารี ดูสัตว์ ดู Big Five หรือบางคนอยากไปดูน้ำตกวิกตอเรีย หรือไปปีนเขาคิรีมันจาโร เหล่านี้เป็นจุดหมายปลายทางสำคัญๆในแอฟริกาที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมากในแต่ละปี

แต่มีประเด็นหนึ่งที่ไม่ควรละเลยคือ การไปทวีปนี้จำเป็นต้องมีการเตรียมตัวด้านสุขภาพอย่างดี เพราะทวีปนี้มีโรค หรือภัยสุขภาพหลายๆอย่างที่ไม่เหมือนประเทศไทยของเรา นักท่องเที่ยวจำเป็นต้องเตรียมตัว ศึกษาแผนการเดินทาง ข้อกำหนดและข้อมูลสุขภาพให้ดีก่อนไป นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนไข้เหลือง รวมถึงป้องกันโรคบางอย่างก่อนไป การเตรียมตัวที่ดีจะทำให้เราท่องเที่ยวได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข

ต่อไปนี้เป็นประเด็นสำคัญๆ ที่ควรพิจารณา

1.  ศึกษาข้อมูล และเลือกประเทศที่อยากจะไปให้ดี

จริงๆทวีปแอฟริกาเป็นทวีปใหญ่ มีความหลากหลายในทางกายภาพอยู่มาก การเลือกสถานที่ที่จะก็มีความสำคัญครับ เช่น ถ้าเราอยากไปหรืออยากพาคุณพ่อคุณแม่ไปซาฟารีในแอฟริกา เราสามารถเลือกประเทศได้มากมายว่าจะไปประเทศไหน จะไปอุทยานอะไร เพราะการท่องซาฟารีในแอฟริกามีอยู่มากมายหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเคนยา แทนซาเนีย นามิเบีย โมซัมบิก แอฟริกาใต้ ฯลฯ  ข้อมูลเรื่องพวกนี้ปัจจุบันไม่หาไม่ยาก มีอยู่มากมายใน Internet และมีรีวิวมากมากให้เราค้นหา

แต่ที่ต้องเน้นตรงนี้เพราะว่า การเลือกไปซาฟารีเหมือนกัน แต่เลือกไปคนละประเทศจะส่งผลอย่างมากต่อความจำเป็นในการฉีดวัคซีน และเตรียมตัวก่อนการเดินทาง เช่น ลองดูรูปด้านล่างครับ

Safari near Kilimanajro mountain

ถ้าเราอยากไปเที่ยวซาฟารี ที่อุทยานมาไซมารา (Masai Mara) ที่ประเทศเคนยา หรือจะไปอุทยานเซเรงเกติ (Serengeti) ดูภูเขาคีรีมันจาโร ซึ่งอยู่ในเขตประเทศแทนซาเนีย เหมือนรูปด้านบน เราจำเป็นต้องฉีดวัคซีนไข้เหลือง และอาจจำเป็นต้องกินยาป้องกันมาลาเรีย เพราะในบริเวณดังกล่าวมีโรคมาลาเรียระบาดอยู่ 

ในทำนองกลับกัน ถ้าเราไม่อยากฉีดวัคซีนไข้เหลือง กลัวเป็นมาลาเรีย แต่อยากไปเที่ยวซาฟารี ดูสัตว์เหมือนกัน เราควรจะเลือกไปดูที่ประเทศแอฟริกาใต้ แถวๆเมือง Cape Town หรือ Port Elizabeth ตามรูปด้านล่าง ถ้าไปแบบนี้ก็ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนไข้เหลืองและไม่จำเป็นต้องกินยาป้องกันมาลาเรียเพราะพื้นที่แถวนั้นไม่มีโรคดังกล่าว

Safari game drive near CapeTown, South Africa

2. ศึกษาข้อกำหนดว่าสถานที่หรือประเทศที่จะไปนั้นจำเป็นต้องฉีดวัคซีนไข้เหลืองหรือไม่

หลังจากที่เรารู้ว่า เราอยากไปที่ไหนของแอฟริกา ต่อมาเราต้องพิจารณาว่าสถานที่ที่เราจะไปนั้นมีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนไข้เหลืองหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้เป็นเรื่องใหญ่ และสามารถสร้างความสับสนได้ไม่น้อย จำเป็นต้องศึกษาข้อกำหนดและข้อบังคับให้ดี  ถ้าจะไปในสถานที่ที่จำเป็นต้องฉีดวัคซีน ก็ต้องมาพิจารณาต่อว่าสามารถฉีดวัคซีนได้หรือไม่ มีข้อห้ามหรือไม่ เพราะการฉีดวัคซีนไข้เหลืองมีความเสี่ยงอยู่บ้าง ในบางคนจะไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงได้ แต่ก็อย่าลืมครับว่า เราสามารถเปลี่ยนไปเที่ยวที่อื่นที่ไม่ต้องฉีดวัคซีนก็ได้ 

เช่นถ้าอยากไปซาฟารีมากๆ แต่ฉีดวัคซีนไข้เหลืองไม่ได้ เช่นอายุมาก มีโรคประจำตัว ควรเลือกไปซาฟารี ที่ประเทศแอฟริกาใต้ ไม่ควรไปซาฟารีที่ประเทศเคนยา แทนซาเนีย ฯลฯ รวมถึงต้องไม่เลือกนั่งสายการบินที่ต้องเปลี่ยนเครื่องในประเทศอื่นๆในแอฟริกาด้วย  

แนะนำให้อ่านบทความด้านล่างครับ จะมีรายละเอียดประเด็นสำคัญๆเกี่ยวกับวัคซีนไข้เหลืองอยู่

3. พิจารณาว่าประเทศที่จะไปอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไข้กาฬหลังแอ่นหรือไม่

โรคนี้ก็เป็นอีกโรคครับที่คนไทยอย่างเราๆไม่ค่อยได้คุ้นเคยกันมาก เพราะบ้านเรามีความเสี่ยงในการติดโรคนี้น้อย แต่ถ้าจะไปประเทศแอฟริกาต้องระวังโดยเฉพาะไปในประเทศที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงตามรูปด้านล่าง ควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาเรื่องวัคซีน

ประเทศในทวีปแอฟริกาที่อยู่ในเขตระบาดของโรคไข้กาฬหลังแอ่น Meningitis belt

4. ระวังเรื่องมาลาเรีย เพราะเที่ยวแอฟริกามีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อมาลาเรีย ควรศึกษาวิธีป้องกันให้ดี และควรปรึกษาแพทย์

ประเด็นนี้ก็สำคัญครับ หลายประเทศในทวีปแอฟริกามีความเสี่ยงในการติดเชื้อมาลาเรีย ก็ต้องบอกตรงนี้ครับว่า ความเสี่ยงของโรคมาลาเรียของประเทศแถบแอฟริกาไม่เหมือนประเทศไทย เช่นในป่าประเทศไทย เวลานักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวป่า แพทย์จะแนะนำให้ป้องกันยุง อย่าให้ยุงกัด โดยที่ไม่ต้องกินยาป้องกันมาลาเรียเพราะความเสี่ยงของนักท่องเที่ยวที่จะติดเชื้อมาลาเรียจากป่าในประเทศไทย มีน้อยมาก

แต่ความเสี่ยงของมาลาเรียในประเทศแถบแอฟริกาจะสูงกว่าในประเทศไทยมาก และในหลายพื้นที่สามารถติดเชื้อมาลาเรียได้ โดยที่ไม่ได้มีลักษณะเป็นป่า บางประเทศแม้แต่ในเขตในเมืองหลวงยังสามารถติดเชื้อมาลาเรียได้

ต่อไปนี้เป็น ตัวอย่าง ประเทศ และแหล่งท่องเที่ยวที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมาลาเรีย : ประเทศเคนยา เอธิโอเปีย แทนซาเนีย โมซัมบิก นามิเบีย แซมเบีย ซิมบับเว น้ำตกวิตอเรีย มาดาร์กัสการ์ ไนจีเรีย แคเมอรูน มาลาวร รวันดา ฯลฯ มีอีกมากครับ  ข้อมูลโดยละเอียดว่าประเทศไหนมีมาลาเรียหรือไม่ สามารถดูได้จาก link นี้ ซึ่งเป็นข้อมูลจากศูนย์ควบคุมป้องกันโรคติดต่อ (CDC) ของสหรัฐอเมริกา 

ถ้าจะไปในประเทศแถบแอฟริกาแนะนำให้พบแพทย์เพื่อปรึกษาดีกว่าครับ แพทย์จะพิจารณาปัจจัยหลายประการ เช่นไปที่ไหน ไปกี่วัน ลักษณะที่พักเป็นอย่างไร และจะทำกิจกรรมอะไรบ้าง ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลต่อความเสี่ยงที่จะติดมาลาเรียระหว่างการเดินทางท่องเที่ยว ในหลายกรณีแพทย์มักจะแนะนำให้กินยาป้องกันมาลาเรียถ้าไปเที่ยวในทวีปแอฟริกา

น้ำตกวิกตอเรีย ที่พรมแดนประเทศแซมเบียและซิมบับเว เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงของมาลาเรีย

5. ศึกษาข้อมูลและป้องกันความเสี่ยงเฉพาะอื่นๆในการเดินทาง

ตรงนี้จะเริ่มยากครับ เพราะความเสี่ยงในการเดินทางแต่ละ trip ย่อมไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับไปที่ไหนบ้าง เช่น

  • ถ้าเลือกจะไปแอฟริกา และไปปีนภูเขาคีรีมันจาโรด้วย ตรงนี้คงหนีไม่พ้นต้อง เตรียมตัวเรื่อง High altitude sickness ให้ดี เพราะการ trek ไปถึงยอดเขาต้องใช้เวลามาก และส่วนใหญ่ต้องกินยาเพื่อป้องกันโรคจากความสูง 
  • ถ้าจะไปท่องซาฟารี ควรปฏิบัติตามกฎกติกาของอุทยานนั้นเสมอ เช่น ถ้าเขาห้ามลงไปเดินก็อย่าทำ ให้นั่งอยู่ในรถตลอดเวลา ไม่ทำเสียงรบกวนสัตว์ ฯลฯ ไม่ควรไปเที่ยวแบบคึกคะนอง ต้องระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยเสมอ ระหว่างที่ออกไปเที่ยวซาฟารีควรทายากันยุงเสมอ
  • นอกจากยุงแล้วยังต้องระวังแมลงอื่นอย่าให้กัดต่อย โดยเฉพาะ tsetse fly ซึ่งเป็นสาเหตุของโรค African trypanosomiasis (sleeping sickness)  ควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด อย่าใส่เสื้อสีฉูดฉาด หลีกเลี่ยงเสื้อผ้าสีน้ำเงิน 
  • ถ้าจะไปบางเมือง บางพื้นที่ที่ยังมีสถิติการก่ออาชญากรรมสูง เช่น โจฮันเนสเบอร์ก หรือยังมีความรุนแรงมีการสู้รบ เช่น South Sudan, Rwanda ต้องระมัดระวังความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้ดี ไม่ควรออกไปเดินในที่เสี่ยง หรือไปในเวลากลางคืน 
  • ระวังเรื่องสภาพอากาศ ศึกษาเรื่องอูณาหภูมิให้ดี เช่น ถ้าใครจะไป Danakil depression หรือ Dallol ในเอธิโอเปีย ตรงพื้นที่นั้นจะร้อนมาก ต้องเตรียมตัวให้ดี
  • ระมัดระวังการสัมผัสกับแหล่งน้ำจืดตามธรรมชาติของทวีปแอฟริกา เช่น แม่น้ำ ทะเลสาปน้ำจืด เนื่องจากมีความเสี่ยงจะติดเชื้อพยาธิใบไม้ Schistosomiasis ได้
  • ดูแลสุขอนามัย อาหารการกิน เครื่องดื่ม พยายามเลือกกินหรือดื่มของที่สะอาดปลอดภัย อย่ากินเนื้อสัตว์ป่าที่ดิบ ไม่สุก หรือไม่ทราบแหล่งที่มาแน่ชัด

6. ดูแลสุขภาพให้พร้อมก่อนการเดินทาง

ก่อนการเดินทางทุกครั้ง ควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงสมบูรณ์ ในผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ และเตรียมยาประจำตัวไปทุกครั้ง นอกจากนี้ควรพิจารณาฉีดวัคซีนที่แนะนำก่อนการเดินทาง เช่นวัคซีนบา่ดทะยัก วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ แม้ว่าวัคซีนพวกนี้จะไม่ได้เป็นวัคซีนที่บังคับ แต่การฉีดวัคซีนล่วงหน้าไว้ก็ดีจะได้ป้องกันโรคและลดความยุ่งยากไปได้มาก

เช่นวัคซีนป้องกันบาดทะยัก ปัจจุบันแนะนำให้ฉีดทุกๆ 10 ปี สมมุติว่านักท่องเที่ยวไม่ได้ฉีดวัคซีนมามากกว่า 10 ปีแล้ว และจะต้องไปแอฟริกา แพทย์มักจะแนะนำให้ฉีดวัคซีนเลย เนื่องจากถ้ามีอุบัติเหตุเล็กน้อยในทวีปแอฟริกา เช่น ถูกไม้ข่วนถูก มีแผล การไปหาฉีดวัคซีนบาดทะยักในแอฟริกาจะยุ่งมาก การฉีดไว้เลยจากเมืองไทยจะดีกว่า

เรื่องประกันการเดินทางก็เป็นอีกอย่างที่สำคัญครับ จะช่วยเราได้มากเมื่อเกิดปัญหาขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาบริษัทประกันดีๆ และต้องอ่านดูว่าประเทศที่จะไปอยู่ในประเทศที่ได้รับความคุ้มครองหรือไม่ เนื่องจากประเทศในแอฟริกาบางส่วนเป็นข้อยกเว้น นั่นคือบริษัทไม่รับประกันประเทศนั้นๆ ต้องอ่านดูกรมธรรม์ดีๆครับ

7. ถ้าไม่สบายหลังกลับจากการเดินทางท่องเที่ยว

อันนี้พูดเผื่อไว้ครับ ถ้าเกิดไม่สบายหลังจากกลับจากเที่ยวแอฟริกา ควรไปพบแพทย์และต้องบอกแพทย์เสมอว่าไปไหนมา เช่น เพิ่งกลับจากเคนยาอาทิตย์หนึ่งแล้วตัวร้อน ก็ต้องให้ข้อมูลว่าไปเที่ยวเคนยามา อย่างน้อยแพทย์จะได้เจาะเลือดดูมาลาเรียด้วย เพราะเป็นโรคของทวีปแอฟริกานั้น ถ้าไม่ได้บอกคุณหมอ คุณหมอก็จะคิดถึงเฉพาะโรคในประเทศไทยเป็นหลัก ซึ่งอาจทำให้การวินิจฉัยคลาดเคลื่อนหรือล่าช้าได้

อ่านมาถึงตรงนี้อย่าพึ่งกังวลกันเกินไปครับ เราก็สามารถไปเที่ยว ทวีปแอฟริกานี้หรือทวีปไหนๆ ได้อย่างมีความสุขและปลอดภัย ขอให้ศึกษาหาข้อมูลให้ดี เตรียมตัวให้พร้อม มีสติ ไม่ประมาท  ทุกอย่างก็จะดำเนินไปได้อย่างราบรื่น

Leave a Reply Cancel reply

You can use these HTML tags

<a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <s> <strike> <strong>

Build a Mobile Website
View Site in Mobile | Classic
Share by: