ปัจจุบันผู้ใหญ่และผู้สูงอายุได้มาที่คลินิกนักท่องเที่ยว โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อนมากขึ้น ส่วนหนึ่งเข้ามาถามปรึกษาเกี่ยวกับวัคซีนปอดอักเสบ (Pneumococcal vaccine) ว่าฉีดดีไหม วัคซีนตัวนี้ป้องกันปอดอักเสบได้แค่ไหน และที่บางคนเรียกว่าวัคซีนป้องกันการติดเชื้อในกระแสเลือดเป็นวัคซีนตัวเดียวกันไหม ป้องกันได้จริงหรือ ฯลฯ
จริงๆเรื่องของวัคซีนตัวนี้มีรายละเอียดพอสมควรครับ และอาจทำให้สับสนได้ง่าย เรามาดูกันเป็นข้อๆดีกว่าครับ น่าจะทำให้เข้าใจง่ายขึ้น
1. วัคซีนป้องกันปอดอักเสบคืออะไร ป้องกันได้มากแค่ไหน
ต้องเริ่มเกี่ยวกับตัวโรคก่อนดีกว่าครับ โรคปอดอักเสบ(Pneumonia)ในที่นี่ เรากำลังพูดถึงโรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อ หรือเรียกว่าคนไทยเรียกว่าโรคปอดบวม เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ มีอาการหลักๆคือ มีไข้สูง ไอ หอบเหนื่อย มักจะเจอในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือมีภูมิคุ้มกันที่ไม่แข็งแรง ซึ่งเชื้อโรคที่ทำให้เกิดปอดบวม/ปอดอักเสบได้มีหลายตัวครับ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด เชื้อไวรัสต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ เชื้อโควิด ฯลฯ เชื้อพวกนี้ทำให้เกิดโรคปอดบวม/ปอดอักเสบได้ทั้งนั้น
แต่วัคซีนที่เรากำลังพูดถึงคือวัคซีนป้องกันปอดอักเสบเป็นวัคซีนที่ทำขึ้นเพื่อป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอกคัส (Pneumococcus) หรือมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Streptococcus pneumoniae ซึ่งเป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดปอดอักเสบได้บ่อยในคนทั่วไป และในชุมชน ถ้าพูดตามตรงคือ วัคซีนป้องกันปอดบวมที่เราพูดๆกัน สามารถป้องกันการเกิดปอดบวมได้จริง แต่ป้องกันเชื้อได้ 1 ชนิดเท่านั้นคือ เชื้อ Pneumococcus (ซึ่งเป็นเชื่อที่พบว่าเป็นสาเหตุบ่อย) แต่วัคซีนนี้ป้องกันปอดบวมจากเชื้ออื่นๆไม่ได้ครับ แปลว่าเรายังสามารถเป็นปอดบวมจากเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ หรือเป็นปอดบวมจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ ไม่เกี่ยวกันครับ
2. ทำไมวัคซีนนี้มีหลายชนิด เห็นว่ามีแบบ 15, 20, 23 สายพันธุ์ ป้องกันการติดเชื้อได้กี่สายพันธุ์กันแน่ และแบบไหนดี
กลับมาที่เชื้อ Pneumococcus กันสักนิดครับ เชื้อชนิดนี้มีสายพันธุ์ต่างๆมากมาย เอาเฉพาะที่ก่อโรคในคนก็มีมากกว่า 90 สายพันธุ์ (strains) แล้ว แต่ในจำนวน 90+ สายพันธุ์ ตัวที่ก่อโรคและพบบ่อยคือสายพันธุ์พวกนี้ครับ คือ 1, 3, 5, 6A, 6F, 7F, 9V, 19A ไม่ต้องจำและไม่ต้องสนใจตัวเลขครับ แค่จะยกตัวอย่างให้ดูว่า สายพันธุ์มีความหลากหลายมาก เราไม่สามารถเอาทั้ง 90 สายพันธุ์มาทำเป็นวัคซีนได้ บริษัทยาจึงต้องเลือกเอาสายพันธุ์ที่พบบ่อยมาทำเป็นวัคซีนก่อน สมัยก่อนวัคซีนรุ่นแรกที่เรามีคือ PCV 7 (Pneumococcal conjugate vaccine 7 strains) ที่เราใช้ในเด็ก จะเห็นว่าป้องกันได้ 7 สายพันธุ์ครับ (ตามรูปข้างล่าง) แต่ปัจจุบันวัคซีนแบบ 7 สายพันธุ์เราไม่ใช้แล้ว เพราะเรามีวัคซีนใหม่คือ PCV13, PCV15, PCV20, PPSV23 คือเป็น Pneumococcal vaccine ที่ป้องกันสายพันธุ์ได้มากขึ้น ก็ตรงไปตรงมาครับ ตัวเลขยิ่งมากก็จะครอบคลุมสายพันธุ์ได้กว้างขวางขึ้น คือแทนที่จะป้องกันได้ 7 สายพันธุ์ ก็ป้องกันเชื้อได้ 13, 15, 20, 23 สายพันธุ์ตามตัวเลขนั่นเอง
3. PCV และ PPSV ต่างกันอย่างไร และแปลว่าวัคซีนที่มีจำนวนสายพันธุที่มากขึ้น ก็ดีขึ้นใช่ไหม
ตรงนี้จะเข้าใจยากนิดหน่อยครับ คงต้องลงรายละเอียดนิดหนึ่งครับ คือเชื้อ Streptococcus pneumoniae เป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีแคปซูลที่เป็น polysaccharide หรือก็คือน้ำตาลโมเลกุลใหญ่หุ้มอยู่ การทำวัคซีนรุ่นแรกๆคือการเอาเชื้อที่ตายแล้ว มาทำวัคซีน ดังนั้นส่วนที่ได้ออกมาที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันคือ polysaccharide เราเลยเรียกว่า Polysaccharide vaccine ซึ่งคำว่า PPSV คือ Pnuemococcal polysaccharide vaccine (PPSV) แต่ข้อเสียของ Polysaccharide คือมันกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ไม่ดี และภูมิคุ้มกันอยู่ได้ไม่นาน
ในยุคหลังๆ เลยมีการทำวัคซีนโดยใช้โปรตีนไปจับกับ polysaccharide เรียกการทำเช่นนี้ว่า conjugated vaccine ซึ่งข้อดีคือสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีกว่า และภูมิอยู่ได้นานกว่า เเรียกวัคซีนกลุ่มนี้ว่า PCV คือ Pneumoccoccal conjugated vaccine นั่นเอง โดยสรุปปัจจุบัน Pneumococcal vaccine ที่มีใช้อยู่มี 4 ประเภทคือ
1 PCV 13 (Prevnar 13) เป็น Conjugated vaccine ป้องกันได้ 13 สายพันธุ์ ปัจจุบันที่โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อนไม่ได้ใช้ตัวนี้แล้ว เนื่องจากมีวัคซีน PCV ตัวอื่นที่ครอบคลุมสายพันธุ์มากกว่า
2 PCV 15 (Vaxneuvance) เป็น Conjugated vaccine ป้องกันได้ 15 สายพันธุ์
3 PCV 20 (Prevnar 20) Conjugated vaccine ป้องกันได้ 20 สายพันธุ์
4 PPSV 23 (Pneumovax23) เป็น Polysaccharide vaccine ป้องกันได้ 23 สายพันธุ์
ถ้าดูจากตัวเลขอย่างเดียวดูเหมือน PPSV23 จะดีสุดเพราะตัวเลขมากสุด แต่ก็ไม่เชิงครับ เพราะ PPSV23 เป็น Polysaccharide vaccine กระตุ้นภูมิได้ไม่ดี เมื่อเทียบกับ PCV ดังนั้นคำแนะนำปัจจุบัน มักจะแนะนำให้ฉีด PCV ก่อนเป็นตัวแรก แล้วตามด้วย PPSV เป็นเข็มต่อมาครับ เดี๋ยวค่อยมาว่ากันในรายละเอียดครับ
4. ทำไมวัคซีนปอดอักเสบ บางครั้งเรียกว่าวัคซีนป้องกันการติดเชื้อในกระแสโลหิต
อย่างที่กล่าวมาแล้วครับ ว่าวัคซีนป้องกันปอดอักเสบ ทำขึ้นมาเพื่อป้องกันการติดเชื้อ Streptococcal pneumoniae ซึ่งเชื้อนี้มีความรุนแรงและก่อโรคได้แตกต่างกัน บางคนมีเชื้ออยู่ในร่างกายโดยไม่มีอาการก็มี หรือบางคนทำให้เกิดหูอักเสบ ทำให้เกิดปอดบวมก็มี หรือทำให้เกิดการติดเชื้อที่รุนแรงแบบแพร่กระจาย Invasive pneumococcal disease (IPD) ไม่ว่าจะเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือติดเชื้อในกระแสโลหิต ก็มี ซึ่งทั้ง 2 โรครุนแรงนี้เกิดจากเชื้อ Pneumococcus ได้ทั้งสิ้น
ดังนั้นวัคซีนป้องกันปอดบวม วัคซีนป้องกันปอดอักเสบ วัคซีนนิวโมคอกคัส บางคนอาจจะเรียกว่าเป็นวัคซีนป้องกันการติดเชื้อในกระแสโลหิต บางคนเรียกว่าวัคซีน IPV (Invasive pneumococcal vaccine) ทั้งหมดหมายถึงวัคซีนตัวเดียวกัน จะเรียกอย่างไรก็ได้ ขึ้นอยู่มองในมุมไหน แต่ขอให้เข้าใจว่า แม้ชื่อจะบอกว่าเป็นวัคซีนป้องกันปอดบวม หรือวัคซีนป้องกันการติดเชื้อในกระแสโลหิตได้ก็จริง แต่ป้องกันที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียได้ชนิดเดียว ไม่ได้แปลว่าฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อในกระแสโลหิตแล้ว จะไม่เป็นการติดเชื้อในกระแสโลหิตเลย เพราะการติดเชื้อในกระแสโลหิตเกิดจากเชื้อได้อีกหลายชนิด เช่น E. coli, Pseudomonas aeruginosa, ฯลฯ
5. ใครควรจะฉีดวัคซีนป้องกันปอดอักเสบบ้าง และควรฉีดเมื่ออายุเท่าไร
ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะการให้วัคซีนในผู้ใหญ่อายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไปเท่านั้นนะครับ จริงๆแล้ววัคซีนป้องกันปอดอักเสบเป็นวัคซีนที่ให้ได้ตั้งแต่เด็ก ซึ่งถือเป็นวัคซีนทางเลือกให้ในเด็ก สำหรับคำแนะนำในเด็กไทย สามารถอ่านและดูได้จาก ตารางนี้ ครับ และในบางประเทศถือเป็นวัคซีนพื้นฐานที่ควรให้เด็กทุกคน
สำหรับในผู้ใหญ่ คิดง่ายๆตามนี้ครับ
- ผู้ใหญ่ปกติ แข็งแรงดี ที่ไม่มีโรคประจำตัว แนะนำให้ฉีดวัคซีนตั้งแต่อายุ 65 ปีขึ้นไป จริงๆแล้วจะฉีดวัคซีนนี้ในคนอายุน้อยกว่านี้ก็ได้ครับ ไม่ได้เป็นข้อห้ามอะไร เพียงแต่ว่าอาจจะไม่คุ้มในเชิงเศรษฐศาสตร์เท่าไร เพราะคนอายุน้อยที่แข็งแรงดี มักจะไม่เป็นปอดปวมหรือปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอกคัส ดังนั้นจึงไม่ได้แนะนำให้ฉีด
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคปอดเรื้อรัง โรคตับเรื้อรัง โรคไต โรคที่มีน้ำไขสันหลังรั่ว โรคพิษสุราเรื้อรัง มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ที่ตัดม้าม ฯลฯ ในกลุ่มเหล่านี้ไม่ต้องรอให้ถึงอายุ 65 ครับ สมควรรับวัคซีนก่อน จริงๆกลุ่มนี้มีรายละเอียดมากครับ ขึ้นอยู่กับเป็นโรคอะไร และเคยได้รับวัคซีนนิวโมคอกคัสมาก่อนหรือไม่ บางรายควรได้รับวัคซีน 2 เข็ม ห่างกัน 2 เดือนหรือ 1 ปี แล้วแต่โรคประจำตัวที่เป็น ซึ่งโดยหลักทั่วๆไป เข็มแรกมักจะเป็น PCV และตามด้วย PPSV
6. วัคซีนปอดบวมต้องฉีดกี่เข็ม และเลือกวัคซีนอย่างไร ควรจะฉีด PCV15, PCV20 หรือฉีดอะไรก่อนอะไรหลัง
ประเด็นนี้จริงๆก็ตอบยากนิดหนึ่งครับ ถ้าใครไปดู คำแนะนำการให้วัคซีนในผู้ใหญ่จากสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย พศ.2568 จะเห็นว่ามีรายละเอียดที่มาก ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น อายุเท่าไร มีโรคประจำตัวอะไร เคยฉีดวัคซีนแบบไหนมาก่อนหรือไม่ ฯลฯ จริงๆแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ดีกว่าครับ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวแบบต่างๆ เพราะคำแนะนำในการให้วัคซีนอาจจะไม่เหมือนกัน
ในที่นี่จะขอกล่าวถึงหลักการทั่วไปก่อนนะครับ เพื่อให้เข้าใจง่ายๆดังนี้
- ในผู้ใหญ่ปกติที่ไม่เคยได้รับวัคซีนปอดบวม แนะนำให้ตั้งแต่อายุ 65 ปีขึ้นไป โดยแนะนำให้เริ่มจากวัคซีน PCV (Conjugated vaccine) ก่อนเสมอ โดยอาจเลือกรับได้ 2 แบบคือ แบบที่ 1 PCV13 หรือ PCV15 อีก 1 ปีขึ้นไปพิจารณาตามด้วยวัคซีน PPSV 23 หรือแบบที่ 2 เลือกรับ PCV 20 จำนวน 1 เข็ม โดยไม่จำเป็นต้องตามด้วย PPSV23
- ถ้าเป็นไปได้การรับวัคซีนที่มีจำนวนสายพันธุ์มากกว่า จะครอบคลุมเชื้อก่อโรคได้มากกว่า ตรงไปตรงมาตามตัวเลขคือ PCV20>PCV15>PCV 13 แต่วัคซีนทั้ง 3 ชนิดสามารถครอบคลุมเชื้อก่อโรคที่พบบ่อยในประเทศไทยประมาณ 70-80% แล้ว
- ในผู้ใหญ่ปกติถ้าเคยได้รับวัคซีน PCV13 หรือ PCV15 มาก่อน แนะนำให้ตามด้วยวัคซีน PPSV 23 หรือ PCV20 เพื่อให้ครอบคลุมสายพันธุ์มากขึ้น แต่ถ้าเคยได้รับ PCV20 มาแล้ว ยังไม่มีคำแนะนำให้วัคซีนซ้ำในผู้ใหญ่ปกติ
- ในผู้มีโรคประจำตัว มักจะต้องได้รับวัคซีนปอดบวมหลายครั้ง ขึ้นอยู่กับโรคประจำตัว โดยอาจจะได้รับมากกว่า 2-3 เข็ม จริงๆก็ไม่เป็นไรครับ ไม่ได้เป็นข้อห้ามอะไร
- วัคซีนปอดบวมทุกชนิดในปัจจุบันเป็นวัคซีนเชื้อตาย สามารถให้ได้ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง แต่ยังไม่แนะนำให้ในหญิงตั้งครรภ์
7. วัคซีนปอดบวมจำเป็นต้องฉีดในผู้สูงอายุมากแค่ไหน และเบิกได้ไหม
วัคซีนปอดบวมยังจัดเป็นวัคซีนทางเลือก ไม่ถูกบรรจุอยู่ในแผนการฉีดวัคซีนของคนไทย ดังนั้นจึงยังเบิกไม่ได้ครับ และปัจจุบันวัคซีนยังมีราคาแพงอยู่ เข็มละประมาณ 1000-2600 บาท แล้วแต่ชนิด ( ดูราคาวัคซีนได้ที่นี่ ) อย่างไรก็ตามผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีและมีโรคประจำตัว ถ้าฉีดได้แนะนำให้ฉีดครับ
ถ้าจะถามต่อว่าคุ้มไหมกับเงินที่เสียไป ตรงนี้บอกยากครับ คงแล้วแต่แต่ละบุคคลครับ เพราะมุมมองต่อความเสี่ยงไม่เหมือนกัน ลองคิดตามแบบนี้นะครับ ตอนนี้เราแนะนำให้ฉีดในกลุ่มเสี่ยงและผู้สูงอายุ อายุมากกว่า 65 ปี แต่ก็ไม่ได้แปลว่าผู้สูงอายุทุกคนจะเป็นโรคปอดบวมจากเชื้อนี้ทุกคน สมมุตินะครับว่าคนอายุมากกว่า 65 ปี มีโอกาสจะเป็นโรคปอดอักเสบหรือติดเชื้อในกระแสโลหิตจากเชื้อนี้ ประมาณ 1 ใน 1,000 ต่อปี (ตัวเลขสมมุติ) ถ้าฉีดวัคซีนแล้วสมมตุิว่าลดความเสี่ยงลงไปได้จาก 1 ใน 1000 เป็น 1 ใน 10,000 ถ้าว่าคุ้มไหม บางคนอาจบอกว่าคุ้ม ลดความเสี่ยงไปได้เยอะแล้วน่าฉีด บางคนอาจบอกว่าไม่คุ้ม เพราะเสียเงินเยอะ และต่อให้ไม่ฉีดโอกาสที่จะเป็นแค่ 1 ใน 1,000 เอง และ 1 คนนั้นคงไม่ใช่ฉันหรอก ฯลฯ รออายุมากกว่านี้ค่อยฉีด ก็แล้วแต่มุมมองครับ
ส่วนหมอเรามักจะยึดตามข้อมูลทางการแพทย์และคำแนะนำของสมาคมวิชาชีพครับคือ ถ้าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรืออายุเกิน 65 ปีแล้ว แนะนำให้ฉีดครับ แต่ถ้าไม่อยากฉีด ก็ไม่เป็นไร ไม่ได้เป็นข้อบังคับครับ อย่าลืมดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ และอย่าลืมฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ด้วยนะครับ ซึ่งเป็นโรคที่พบบ่อยกว่าและมีการระบาดเป็นประจำ
References:
-
- พิมพ์พรรณ พิสุทธิ์ศาล. วัคซีนเอชพีวี วัคซีนงูสวัด วัคซีนนิวโมคอกคัส ในวัชรพงศ์ ปิยะภาณี และคณะ. เวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว 2nd Edition. กรุงเทพฯ เนติกุลการพิมพ์ 2568; 115-131
- สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย. คำแนะนำการให้วัคซีนป้องกันโรคสำหรับผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ พศ. 2568. Recommended Adult and Elderly Immunization Schedule. Available from https://www.idthai.org/Contents/Download/f369b411c5eb95ab252e1ab9de70f787fa720784/1/?p=l4fevdj
Leave a Reply